เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น หลายๆ คนชอบนั่งรถไฟกันใช่ไหมครับ ปี๋ก็ชอบเหมือนกัน รถไฟญี่ปุ่นค่อนข้างตรงเวลา ครอบคลุม และปลอดภัย
แต่นั่นก็แลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงเหมือนกัน ต่อให้เราเป็นนักท่องเที่ยว ใช้ตั๋ว JR Pass ที่สามารถนั่งรถไฟไม่จำกัดครั้ง ไปไหนก็ได้ทั่วญี่ปุ่น ก็ยังต้องจ่ายขั้นต่ำ 7 วัน ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินที่เยอะอยู่ดี วันนี้เลยจะมาแนะนำตั๋วรถไฟของบริษัทการรถไฟญี่ปุ่น (JR) ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกัน
ตามหัวข้อเรื่องเลยครับ นั่นก็คือ “Seishun 18 Kippu” (Seishun Juhachi Kippu; เซชุน จูฮะจิ คิปปุ) ขอเรียกย่อ ๆ ตรงนี้ ว่า “ตั๋วเซชุน” แล้วกัน
ชื่อตั๋ว ถ้าแปลจากภาษาญี่ปุ่น (青春18きっぷ) มันจะแปลว่า “ตั๋ววัยรุ่น(อายุ) 18”
แต่ตั๋วเซชุนมันไม่ได้จำกัดอายุ (จะอายุเกินหรือไม่ถึง 18 ก็ใช้ได้) ไม่ได้จำกัดเพศและเชื้อชาติ จะเป็นคนญี่ปุ่นก็ใช้ได้ เป็นต่างชาติก็ใช้ได้หมด
อ้าว… สงสัยใช่เปล่าว่าทำไมตั๋วถึงชื่อแบบนี้
เดี๋ยวเรามาว่ากันทีหลัง
Seishun 18 Kippu คืออะไร?
อธิบายต่อก่อน คร่าวๆ ตั๋วเซชุนนี่จริงๆ มันคือตั๋ว JR Pass แบบโลว์คอสต์อะครับ หลักๆ มันเหมือนกันเลย คือนั่งรถไฟได้ไม่จำกัดครั้ง และไปไหนก็ได้ทั่วญี่ปุ่น เจ้าตั๋วเซชุน มีราคาแค่ 11,850 เยน (ประมาณ 3,500 บาท) ใช้งานได้สูงสุด 5 วัน (หรือ 5 ครั้ง) เฉลี่ยแค่วันละ 700 บาทแค่นั้น ถูกกว่า JR Pass เกือบสามเท่า!
แล้วที่เจ๋งกว่า คือตั๋วนี้มันไม่ต้องใช้ต่อเนื่องกันทุกวันก็ได้!
แถมส่งต่อเปลี่ยนมือให้คนอื่นใช้ก็ได้ ไปด้วยกันก็ถือตั๋วใบเดียวแล้วเข้าสถานีพร้อมกันก็ได้ แชร์กันใช้ได้ เป็นข้อดีของตั๋วเซซุนนี้เลย
เพราะมันแชร์กันได้ เวลาใช้เราเลยเอาตั๋วนี้เสียบเครื่องตรวจตั๋วตามปกติไม่ได้ ต้องเอาไปโชว์ให้เจ้าหน้าที่สถานีดู เหมือนตั๋ว JR Pass เลย
บนตั๋วจะมีช่องให้เจ้าหน้าที่สถานีประทับตราได้ 5 ครั้ง ประทับตรา 1 ครั้ง เท่ากับการใช้งาน 1 วัน ต่อ 1 คน เหมือนในภาพด้านล่างนี้ ที่มีตราประกับ 7.25 ก็คือใช้ตั๋วนี้ในวันที่ 25 กรกฎาคม 1 ครั้ง
(ภาพประกอบ: Wikimedia)
นั่นหมายความว่า เราจะใช้ตั๋วนี้คนเดียว ทั้ง 5 ครั้ง (เที่ยวคนเดียว 5 วัน) เลยก็ได้
หรือจะแชร์กันกับเพื่อน 5 คน ใช้คนละ 1 ครั้ง (คนละ 1 วัน หรือไปด้วยกัน 5 คนพร้อมกันวันเดียว) ก็ได้
หรือจะใช้กับเพื่อน 2 คน คนละ 2 ครั้ง (2 วัน) และเหลือเศษอีก 1 ครั้ง ไว้ใช้คนเดียวก็ได้
แถมไม่ต้องใช้ต่อเนื่องทุกวัน วันไหนเดินทางน้อยก็ไม่ต้องใช้ก็ได้ เป็นตั๋วที่ Flexible มากๆ
แล้วทำไมมันถึงราคาถูกขนาดนี้?
เพราะข้อจำกัดของมันเยอะพอสมควร แต่ก็เข้าใจไม่ยากครับ อธิบายคร่าวๆ คือ
1. ตั๋วนี้ใช้ได้แค่ตอนเด็กปิดเทอม
นี่เลยเป็นที่มาของชื่อตั๋ว เพราะตั๋วขายและใช้ได้แค่ตอนเด็กญี่ปุ่นปิดเทอมครับ (แต่อย่างที่บอกไปข้างต้น ตั๋วใช้ได้ทุกคน ไม่จำกัดอายุและเชื้อชาติ)
เด็กญี่ปุ่นปิดเทอมกันปีละ 3 รอบ ปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ, ปิดเทอมใหญ่ฤดูร้อน และปิดเทอมฤดูหนาวตอนปลายปี
โดยปกติตั๋วเซชุนจะขายถึงปลายเดือนมีนาคม, สิงหาคม และธันวาคม และใช้ได้ถึงวันที่ 10 ของเดือนถัดไป (10 เมษายน, กันยายน และมกราคม ตามลำดับ) ซึ่งแต่ละช่วงคือน่าเที่ยวญี่ปุ่นทั้งนั้นครับ
อย่างอันนี้คือระยะเวลาขายตั๋ว และระยะเวลาใช้งานตั๋วเชซุนของปี 2018
รอบฤดูใบไม้ผลิ:
ขายตั๋ว 20 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม
ใช้ตั๋วได้ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 10 เมษายน
ช่วงนี้อากาศกำลังดี แถมต้นเดือนเมษายนก็มีซากุระ น่าเที่ยวมาก
รอบฤดูร้อน:
ขายตั๋ว 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม
ใช้ตั๋วได้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม – 10 กันยายน
เป็นรอบที่ตั๋วใช้ได้นานที่สุด ไปเที่ยวฮอกไกโดสบายมาก อากาศกำลังดี
รอบฤดูหนาว:
ขายตั๋ว 1 ธันวาคม – 31 ธันวาคม
ใช้ตั๋วได้ตั้งแต่ 10 ธันวาคม – 10 มกราคม ของปีถัดไป
ใครไปเที่ยวปลายปี ตั๋วนี้คุ้มมาก โคตรคุ้ม
2. ตั๋วนี้ใช้ได้ถึงเที่ยงคืนของวันที่ใช้เดินทาง
อันนี้จะต่างจากตั๋วรถไฟส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นครับ เพราะในแต่ละครั้งที่ใช้ เราใช้ได้ถึงแค่เที่ยงคืนของวันที่เดินทาง รถไฟรอบที่เกินเที่ยงคืนจะใช้ไม่ได้ และไม่ได้นับรอบ 24 ชั่วโมง
สมมุติวันนี้เราออกเดินทางตอน 8 โมงเช้า ก็เอาตั๋วให้เจ้าหน้าที่ประทับตรา 1 ดวง
และภายในวันนี้เราจะเข้าๆ ออกๆ สถานีรถไฟทั่วประเทศญี่ปุ่นกี่รอบก็ได้ จนถึงเที่ยงคืน
แต่…!
ถ้าเรากลับที่พักดึกมาก ขึ้นรถรอบ 5 ทุ่มกว่าๆ กรณีรถไปถึงปลายทางหลังเที่ยงคืน เราจะโดนคิดเงินเพิ่มตั้งแต่สถานีที่เลยเที่ยงคืนครับ
(ภาพ: Hyperdia)
สมมุติเราเดินทางจากโอซาก้า กลับเกียวโต ตามภาพด้านบน
เดินเข้าสถานีโอซาก้าสักห้าทุ่มยี่สิบ ขึ้นรถไฟรอบ 23:33 น. ตรงนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเอาตั๋วเซชุนผ่านเข้าไปได้ ยังไม่เที่ยงคืน
นั่งไปเรื่อยๆ พอเที่ยงคืน รถไฟออกจากสถานี Yamazaki มุ่งหน้าไปเกียวโต เรายังคงอยู่บนรถไฟ
พอรถไฟมาถึงปลายทางที่เกียวโตตอน 00:16 น. ตอนเดินออกสถานีเกียวโตเราจะโดนเก็บตังค์เพิ่มทันที
โดยกรณีนี้ เราจะต้องจ่ายเงินค่าเดินทาง จากสถานี Yamazaki ถึงสถานีเกียวโตครับ แถมต้องบอกเจ้าหน้าที่ด้วยว่านั่งรถไฟขบวนไหนมา เข้ามาตอนกี่โมง เพราะตั๋วมันไม่บันทึกข้อมูลอะไรไว้
เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังพูดไม่ค่อยคล่อง มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกับเราได้ครับ #ขายคอร์ส #ผิด
เพราะฉะนั้นเวลาใช้ตั๋วเซชุน เราต้องเป็นซินเดอเรลล่า อย่าให้นาฬิกาเดินถึงเที่ยงคืน ไม่งั้นจะเจอปัญหาพอสมควรครับ
3. ตั๋วนี้นั่งรถด่วนพิเศษและชินกันเซ็นไม่ได้
นี่คือสาเหตุหลักที่ตั๋วนี้ราคาถูกครับ เพราะมันนั่งรถด่วนพิเศษ ทั้งที่ต้องจองหรือไม่จองที่นั่ง ไม่ได้สักขบวน นั่งชินกันเซ็นไม่ได้ และนั่งได้เฉพาะรถไฟทางไกลของบริษัทการรถไฟญี่ปุ่น (JR) เท่านั้น นั่งรถไฟใต้ดินหรือรถไฟเอกชนไม่ได้
ว่าง่ายๆ ชนิดรถไฟ JR ที่เรานั่งได้ด้วยตั๋วเซชุน คือขบวนที่ไม่มีเลขขบวน และไม่มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาตรวจตั๋วเราครับ
นั่นก็คือ เรานั่งรถประเภท Local (普通 รถชานเมือง จอดทุกป้าย) และทุกอันที่มีคำว่า Rapid (快速 รถเร็ว ทั้ง Semi Rapid, Commuter Parid, Special Rapid ฯลฯ) ได้
แต่เราจะนั่งรถ Special Express (特急 รถด่วน) และ Shinkansen (新幹線 รถไฟความเร็วสูง) ไม่ได้ครับ
วิธีเช็คก็ง่ายๆ ใช้เว็บเช็คได้เลย
แนะนำเว็บหาเที่ยวรถไฟแบบสารพัดประโยชน์สำหรับคนเที่ยวญี่ปุ่น อย่าง http://www.hyperdia.com/en/
หลายคนอาจจะเคยใช้เว็บ Hyperdia สำหรับหาเที่ยวรถไฟ และจัดตารางรถไฟตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นใช่ไหมครับ
เข้าไปใน Hyperdia แล้วตอนหาเที่ยวรถไฟ เอาเครื่องหมายถูกออกให้หมด เหลือแต่ช่อง Walk (徒歩), Local Train (หรือ Commuter Train 普通列車) และ Japan Railway (JR) ตามภาพด้านล่างนี้ได้เลย
ปกติการนั่งรถไฟจากโตเกียว ไปโอซาก้า ด้วยชินกันเซ็นจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าๆ ไม่ต้องเปลี่ยนรถ ในราคา 14,000 กว่าเยนต่อเที่ยว (4,200 กว่าบาทต่อเที่ยว)
แต่ด้วยตั๋วเซชุน เราจะใช้เวลา 9 ชั่วโมง และเปลี่ยนรถไฟ 5-6 รอบครับ แต่ก็แลกกับเราเสียเงินแค่ 700 บาทเอง
มันเป็นไปได้จริงๆ เรานั่งมาแล้ว 555
อย่างอันนี้คือตัวอย่างการเดินทางจากโตเกียว-โอซาก้า ด้วยรถไฟธรรมดาปู๊นๆ จากที่จริงๆ ต้องจ่าย 8,750 เยน แต่ถ้ามีตั๋วเซชุน เราก็จ่ายแค่ 2,350 เยน และแวะระหว่างทางตรงไหน กี่รอบก็ได้
ออกจากโตเกียว 7 โมงเช้า นั่งรถผ่านทะเลแถว Atami ลงไปรับลมทะเลตอนเปลี่ยนรถ เดินดูของฝากเล่นๆ ตอนรอรถบ้าง นั่งผ่านภูเขาไฟฟูจิ ลงไปชมวิว ถ่ายรูปแถวสถานี Fujikawa แล้วนั่งรถไฟต่อ มาแวะกินข้าวเที่ยงที่ Hamamatsu ไปต่อคิวรอเกี๊ยวซ่าเกือบชั่วโมง (เมืองนี้เกี๊ยวกับปลาไหลอร่อยมาก ชอบ) เดินเล่น ช็อปปิ้งนิดหน่อย รอบเย็นก็นั่งรถไฟต่อมาถึงโอซาก้าตอนสามทุ่ม
ด้วยความ Flexible ของตั๋วเซชุน เราจะขึ้นลง เข้าออกสถานีตอนไหนก็ได้ แวะสถานีบ้านนอกบ้านนาก็ได้ ลงไปเข้าห้องน้ำที่มีที่ฉีดตูดในสถานี หรือเดินซื้อของฝากแล้วกลับมาขึ้นรถก็ได้ มันจัดตารางเที่ยวได้เยอะมากๆ ครับ
เอาเป็นว่าลองดูข้อมูลในเว็บ Hyperdia เพื่อดูตารางรถไฟและจัดตารางเที่ยวดูครับ
ถ้าไปถึงแล้วไม่แน่ใจ เอาตั๋วไปให้เจ้าหน้าที่ดู ชี้ๆ ไปที่ชานชาลาที่เราจะขึ้น แล้วถาม “โอเค๊?” ก็น่าจะเข้าใจกันได้
หรือจะพูดสวยๆ หน่อยก็ “สุมิมะเซ็ง โคเระ โนเรมัสก๊ะ?” (ขอโทษครับ/ค่ะ อันนี้ ขึ้นได้มั้ยครับ/คะ?)
เยี่ยม!
แต่
.
.
.
ถ้าเราเดินทางไปในจุดที่มันไม่มีรถไฟ JR หรือในจุดที่มันไม่มีรถไฟทางไกลธรรมดาล่ะ
อย่างเช่น รถไฟไปฮอกไกโด ตอนข้ามเกาะเข้าฮอกไกโด ตอนนี้มันมีแต่ชินกันเซ็น ไม่มีรถไฟธรรมดาอีกแล้ว
เค้าเลยออกตั๋ว “Hokkaido Shinkansen Option” มาให้เราใช้เพิ่ม ในราคาเที่ยวละ 2,300 เยน (จากปกติที่เราต้องจ่ายเกือบ 6,000 เยนเพื่อนั่งชินกันเซ็นเข้าไปฮอกไกโด) ซื้อได้พร้อมกันกับตั๋วเซชุนนี่เลย
ตั๋ว Hokkaido Shinkansen Option เนี่ย พอใช้ร่วมกับตั๋วเซชุน เราจะนั่งชินกันเซ็น จากสถานี Okutsugaru-Imabetsu (奥津軽いまべつ สถานีสุดท้ายของฝั่งฮนชู ฝั่งเกาะหลัก) ถึงสถานี Kikonai (木古内 สถานีแรกฝั่งฮอกไกโด) ได้ 1 สถานี โดยเป็นตั๋วไม่ระบุที่นั่ง (Non-Reserved) นั่งตรงไหนก็ได้ในตู้ที่ระบุไว้ว่า Non-Reserved และถ้าที่นั่งเต็ม เราก็จะต้องยืนไปตลอด 1 สถานีนี้จ้า (และแน่นอน เรายืนมาแล้ว สบายกว่ายืนบน BTS อีก เป็นประสบการณ์ที่ดี 555)
สรุป ตั๋วนี้คุ้มมั้ย?
ส่วนตัวเราว่าคุ้มมาก โคตรคุ้ม ถ้าจัดตารางเดินทางดีๆ
เพราะในบางช่วง เราสามารถประหยัดค่าเดินทางจาก 5,000-6,000 เยน เหลือเพียงแค่วันละ 2,370 เยนได้ แถมไม่ต้องใช้ติดต่อกันทุกวัน แชร์กับเพื่อนใช้แล้วไปด้วยกันก็ได้
ถ้าใครนึกภาพไม่ออก อย่างเราเดินทางจากเกียวโต ไปนาโกย่า ที่รถไฟทางไกลธรรมดาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในราคาเที่ยวละ 2,590 เยน ซึ่งไปเช้าเย็นกลับสบายๆ
แทนที่จะต้องจ่าย 2,590 เยน x 2 เที่ยว = 5,180 เยน
ถ้าใช้ตั๋วเซชุน เราจะจ่ายแค่ 2,370 เยนเท่านั้น แถมยังแวะระหว่างทางได้ (อาจจะแวะ Gifu, Nagahama, Hikone, Omihachiman หรือเมืองเล็กๆ น้อยๆ รายทางได้) และใช้เที่ยวในเมืองนาโกย่าได้อีก
แต่แน่นอน เราต้องวางแผนดีๆ เพราะเราต้องเปลี่ยนรถไฟหลายรอบ และใช้เวลาอยู่บนรถไฟค่อนข้างนาน อาจจะเตรียมขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีกลิ่นรุนแรง และน้ำดื่มขึ้นไปให้พร้อม แล้วนั่งชมวิวสองข้างทาง ลงมาแวะถ่ายรูปหรือเดินเล่นตอนเปลี่ยนขบวนรถไฟ (และระวังตกรถไฟขบวนถัดไป!) ก็ทำให้การเดินทางของเราสนุกขึ้นแล้วครับ ยิ่งใครรักการเดินทางด้วยรถไฟ ตั๋วนี้คือตั๋วที่ต้องใช้เวลาไปญี่ปุ่นกันเลย
ใครจะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเดือนมีนาคม สิงหาคม หรือปลายปี ลองดูตั๋วเซชุนเป็นทางเลือกนะครับ
ดูข้อมูลตั๋วเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ด้านล่างครับ
https://www.japan-guide.com/e/e2362.html (รายละเอียดตั๋ว ภาษาอังกฤษ)
http://www.jreast.co.jp/press/2017/20180208.pdf (ประกาศจาก JR East ภาษาญี่ปุ่น)
ขอให้สนุกกับการเดินทางครับ!